วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

มธ.แจกใบเหลืองนักศึกษาแต่งโป๊

จนถึงตอนนี้ มหาวิทยาลัยทุกแห่งเปิดภาคเรียนกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ "ชุดนักศึกษา" ยังคงเป็นปัญหาคับอกคับใจของเหล่าคณาจารย์และผู้ปกครอง ถ้ายังจำกันได้ ก่อนจะเปิดเทอมเรื่องของชุดนักศึกษาตกเป็นข่าวพาดหัว พร้อมกับที่รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล วิพากย์การแต่งกายของนักศึกษาว่า ไม่เพียงใส่เสื้อสายเดี่ยว เกาะอก นักศึกษาบางคนใส่ชุดนอน เข้าห้องบรรยาย ก็ยังมีเป็นที่มาของการรื้อระเบียบการแต่งกายว่าด้วยชุดนักศึกษาออกมาปัดฝุ่น ขณะที่ประเด็นการแต่งกายของนิสิตนักศึกษาถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันอีกวาระ ไม่เพียงเฉพาะในแวดวงวิชาการและกึ่งวิชาการ บรรดาเว็บไซต์ที่มีคนเข้าไปตั้งกระทู้เรื่องการแต่งกายนักศึกษาต่างได้รับการตอบรับมากมาย ความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่าเป็นเรื่องของ "สิทธิเสรีภาพ" ในการแต่งกาย ส่วนอีกฝ่ายว่าเป็นเรื่องของ "กาละเทศะ" เป็นเรื่องของความเหมาะควร การให้ความเคารพต่อสถานศึกษา มติชน "ประชาชื่น" ลงพื้นที่ไปสำรวจการแต่งกายของนักศึกษา พบว่านักศึกษาหญิงจำนวนมากยังคงนุ่งกระโปรงสั้น-ผ่าสูง เสื้อค่อนข้างพอดีตัว ดร.ปริญญาเล่าถึงระเบียบการแต่งกายของนักศึกษาธรรมศาสตร์ว่า ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยระบุไว้ว่า..."นักศึกษามีเสรีภาพในการแต่งกายให้เหมาะสมกับกาละเทศะ ตามที่นักศึกษานิยมและเห็นสมควร" นั่นคือ นักศึกษามีเสรีภาพเลือกได้ว่าจะแต่งชุดนักศึกษาหรือแต่งชุดธรรมดา เพียงแต่ว่าต้องเหมาะสมกับกาละเทศะบางชุดเหมาะที่จะอยู่ในบ้านหรืออยู่ในหอเท่านั้น ไม่เหมาะที่จะใส่มาเข้าห้องเรียน บางชุดเหมาะที่จะใส่ไปงาน เช่น งานราตรี บางชุดอาจจะดูโป๊ แต่ถ้าอยู่ที่สระว่ายน้ำมันก็ไม่โป๊ นี่คือกาละเทศะ"แต่ปัญหาคือ คำว่า "กาละเทศะ" เป็นเรื่องที่เราอาจจะมีความเข้าใจกันน้อยลง อย่างชุดนอนถ้าใส่อยู่ในบ้านก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับตรงนั้น แต่แต่งมาเข้าห้องเรียนก็ไม่เหมาะสม เราจึงจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องเสรีภาพกันให้มากขึ้นในแง่ที่ว่า เสรีภาพจะต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ เรื่องของเครื่องแต่งกายเป็นเรื่องกาละเทศะที่เหมาะสม ไม่ใช่เป็นเสรีภาพตามอำเภอใจ"วิธีการแก้ปัญหา ดร.ปริญญาบอกว่า ที่ธรรมศาสตร์จะเตือนโดยการแจก "ใบเหลือง"!
ใช่...ใบเหลืองเหมือนกับที่กรรมการในสนามแข่งขันฟุตบอลแจกให้กับผู้เล่นที่ทำผิดกติกา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ใช้การแจกใบเหลืองให้กับนักศึกษาที่แต่งกายไม่เหมาะสม แต่งกายล่อแหลม เพื่อขอความร่วมมือ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลก็จะแจก "ใบแดง" ล่ะทีนี้ดร.ปริญญากล่าวว่า ที่เลือกใช้ "ใบเหลือง" เพื่อว่าจะดูไม่รุนแรงเกินไป ซึ่ง "ใบเหลือง" ที่ว่ามีขนาด 4X4.5 นิ้ว ด้านหน้าเป็นลักษณะแบบฟอร์มจดหมายขอความร่วมมือในการแต่งกายที่เหมาะสม ด้านหลังเป็นประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "การแต่งกายที่ถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพเกินกว่าขอบเขตอันเหมาะสม"กล่าวคือ กรณีนักศึกษาหญิง : เสื้อเอวลอยเหนือสะดือ เสื้อเกาะอก เสื้อสายเดี่ยว เสื้อแขนกุด หรือเสื้อรัดรูปเกินไป กระโปรงที่สั้นจนเกินครึ่งหนึ่งของต้นขาหรือสั้นกว่า กางเกงขาสั้นเลยเข่าขึ้นมา กางเกงเล หรือกางเกงที่เอวต่ำกว่าสะโพก ชุดนอน หรือการแต่งกายลักษณะใดที่เห็นชัดแจ้งว่าเป็นการแต่งกายล่อแหลมจนเกินควร หรือเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายจนเกินไปจนมีลักษณะไปในทางยั่วยุทางเพศ......นักศึกษาที่แต่งกายลักษณะดังนี้จะถูกห้ามไม่ให้ขึ้นอาคารเรียนหรือเข้าห้องเรียนและห้องสมุด และหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมีสิทธิงดให้บริการได้ รองอธิการบดีฝ่ายนักศึกษา มธ.ชี้แจงว่า "ถ้าแก้ปัญหาด้วยการห้าม การบังคับ จะยิ่งเหมือนทำกับนักศึกษาเหมือนเป็นเด็ก นักศึกษาปี 1 อายุ 18 ปีแล้ว เขาควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักใช้เสรีภาพ ควรจะเรียนรู้ว่าเสรีภาพมีขอบเขตอยู่ตรงไหน ซึ่งเสรีภาพของการแต่งกายนั้นสิ่งที่กำกับก็คือ "กาละ" และ "เทศะ" ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคาร เห็นนักศึกษาคนใดแต่งกายที่ล่อแหลมเกินไป เจ้าหน้าที่ก็จะให้ใบเหลืองกับนักศึกษาเพื่อเป็นการเตือน ซึ่งวิธีการนี้เราถือว่าเป็นการรณรงค์ให้นักศึกษาแต่งกายให้เหมาะสมและถูกกาละเทศะ เพราะเสรีภาพนั้นต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ"ทางด้าน รัตติกรณ์ โสรมรรค นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การรณรงค์สร้างสำนึกให้กับนักศึกษาในการแต่งกายอย่างเหมาะสม ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี คนที่ใส่ชุดวับๆ แวมๆ มาเรียนเหมือนกับไม่ให้เกียรติคณะ อาจารย์ หรือแม้แต่สถาบันการศึกษา
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล"การแต่งกายของนักศึกษาไม่เกี่ยวกับเรื่องของสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นเรื่องของการแต่งตัวอย่างไรให้ถูกกาละเทศะมากกว่า ที่ผ่านมาอาจารย์หลายๆ คนก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องใส่ชุดนักศึกษาเท่านั้นจึงจะเข้าเรียนได้ เพียงแต่ให้แต่งชุดสุภาพ คือ จะต้องใส่กางเกงขายาว ยกเว้นเวลาที่จะต้องติดต่อกับหน่วยงานหรือห้องสมุดที่จะต้องแต่งชุดนักศึกษา"รัตติกรณ์บอกอีกว่า โดยความเห็นส่วนตัวเห็นว่าคนที่เอ็นทรานซ์เข้ามาเรียนที่นี่ได้แล้วน่าจะรู้สึกภาคภูมิใจกับชุดนักศึกษา และโอกาสที่จะได้ใส่ชุดนักศึกษามีเพียง 4 ปี เท่านั้น หลังจากนั้นเราก็จะอยู่ในอีกสถานภาพหนึ่งที่ไม่ใช่นักศึกษาแล้วพนิตา เจริญผลารักษ์ นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกคนที่เห็นด้วยกันการฟื้นระเบียบการแต่งกายของนักศึกษาขึ้นมาใช้ในเชิงปฏิบัติ เธอบอกว่า การแต่งชุดนักศึกษาทำให้ภาพลักษณ์ของนักศึกษาดูดี สมกับเป็น "นักศึกษา" ดูเป็นระเบียบ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเงินพ่อแม่ ไม่ต้องไปหาซื้อเสื้อผ้าที่แพงๆ ทันสมัยมาใส่อวดกับเพื่อนๆ เพราะชุดนักศึกษาชุดหนึ่งราคาประมาณ 300-400 บาท สามารถใส่ได้ตั้งหลายเทอม "เวลาที่ได้ใส่ชุดนักศึกษานอกจากเราจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นนักศึกษาของสถาบันแห่งนี้ และเป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่ด้วย"ไม่มีใครปฏิเสธว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่เสรีภาพนั้นก็ควรตั้งอยู่บนการรู้จักกาละเทศะ มิใช่หรือ จึงสมกับการที่ได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชน ดร.กรรณิกา คำดีหัวหน้าฝ่ายพัฒนาและวินัยนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามปกตินิสิตที่นี่ไม่ค่อยแต่งกายหวือหวาเท่าไหร่ อาจจะด้วยวัฒนธรรมของนิสิตเกษตรฯที่ค่อนข้างจะเรียบง่าย ติดดิน เราค่อนข้างดูแลเรื่องการแต่งกายของนิสิตอยู่แล้ว และทำกันมาตลอด หากนิสิตแต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎของมหาวิทยาลัย อาจารย์จะไม่ให้เข้าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสอบ เราจะเข้มงวดมาก เพราะเราอยากให้นิสิตเรียบร้อย แต่ก็จะอนุโลมให้เด็กใส่รองเท้าสีขาว รัดส้นเท้า ส่วนสีของก็จะเป็นกระโปรงสีดำ หรือสีกรมท่า ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำโปสเตอร์รณรงค์เรื่องการแต่งกายให้ถูกระเบียบเพื่อเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ไปสู่วิทยาเขตต่างๆ ตามโครงการ "ก้าวแรกสู่บัณฑิตยุคใหม่" ผศ.ญาณวุฒิ สุพิชญางกูรผู้อำนวยการสำนักงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิตช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้แจ้งไปทุกคณะว่าน้องใหม่ทุกคนจะต้องแต่งกายตามระเบียบ โดยจะให้รุ่นพี่เป็นคนดูแล เนื่องจากที่มหาวิทยาลัยยังยึดระบบโซตัส รุ่นน้องจะให้ความเกรงใจและเชื่อฟังรุ่นพี่ อาจารย์เองก็จะต้องเรียนรู้ถึงพฤติกรรมนักศึกษาในแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น นอกจากแต่งตามกระแสแฟชั่นแล้ว นักศึกษาเองมีปัญหาทางบ้านหรือไม่ กรณีของการแต่งกายไม่สุภาพ จะใช้การตักเตือน ไม่นิยมการภาคทัณฑ์ เพราะถ้าทำอะไรที่รุนแรงไปก็เหมือนกับว่าเราไล่นักศึกษาให้ออกจากสถาบันเร็วขึ้น เราจะไม่เอาระบบการศึกษาไปร่วมกับระบบพฤติกรรมของนักศึกษา แต่จะใช้การละลายพฤติกรรมเหล่านั้น ให้เขาปรับตัวให้เข้ากับสถาบันการศึกษาได้ ซึ่งโดยมากจะใช้การพูดคุยทำความเข้าใจกัน ผศ.วรรณวิภา ทัพวงศ์รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีสโลแกนรณรงค์การแต่งกายชุดนักศึกษาว่า "ไม่แตะ ไม่เต่อ ไม่ติ้ว" คือ ไม่ใส่รองเท้าแตะ ไม่ใส่กระโปรงสั้นเต่อ และไม่ใส่เสื้อคับติ้ว รวมถึงไม่อนุญาตใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ และปล่อยชายเสื้อไว้นอกกางเกงและกระโปรงเรามีโครงการ "ดีพิว สมาร์ท" (dpu smart) เป็นโครงการรณรงค์ให้นักศึกษาแต่งกายอยู่ในระเบียบ โดยจะทำเป็นบัตรสะสมแต้มสำหรับให้อาจารย์ท่านใดก็ได้ในมหาวิทยาลัยเซ็นชื่อรับรองการแต่งกายที่ถูกระเบียบของนักศึกษา วันละ 1 ช่อง เท่ากับ 1 แต้ม สะสมจนครบ 20 แต้ม สามารถนำมาแลกรางวัลได้ โดยของรางวัลจะเป็นหัวเข็มขัด กระดุม หรือที่ห้อยปกเสื้อ หรือตุ้งติ้ง"ถ้าแต่งกายผิดระเบียบจะมีการตักเตือนจนไปถึงขั้นยึดบัตรนักศึกษา ถ้าทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกจะมีการเพิ่มระดับการลงโทษ คือ การตัดคะแนนจิตพิสัยและความประพฤติ ซึ่งจะทำให้ไม่มีสิทธิได้รับใบรับรองความประพฤติ และจะนำนักศึกษาไปรับการอบรมบุคลิกภาพ เพื่อปลุกจิตสำนึกที่ถูกต้อง"

ไม่มีความคิดเห็น: